วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา



วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติสุโขทัย


ประวัติจังหวัดสุโขทัย

จังหวัดสุโขทัย เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อ ๗๐๐ ปีที่แล้ว คำว่า "สุโขทัย" มาจากสองคำ คือ "สุข+อุทัย" หมายความว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" รอยอดีตแห่งความรุ่งเรือง เห็นได้จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ

ประวัติสุโขทัยเริ่ม พ.ศ. ๑๘๐๐ เมื่อพระยาศรีนาวนัมถมพระบิดาพ่อขุนผาเมืองได้ปกครองเมืองสุโขทัยเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ ขอมสมาดโขลญลำพงข้าหลวงจากราชอาณาจักรขอมได้เข้ายึดครองเมือง ขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองจ้าวเมืองราดได้ยึดเมืองคืน และสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี มีขุนบางกลางหาวพระนามใหม่ว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัย อาณาจักรแห่งแรกของประเทศไทย

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้แผ่อาณาจักรออกไปกว้างขวางคลุมเขตประเทศไทยเกือบหมด บ้านเมืองเจริญทุกด้าน ไม่ว่าด้านประวัติศาตร์ ยุทธศาสตร์ กฏหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี เฉพาะอย่างยิ่งทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ อักษรไทยที่ทรงประดิษฐ์นี้ได้จารึกไว้ในแผ่นศิลามากมาย ศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญให้รู้เรื่องเมืองสุโขทัยมากขึ้น

ในศิลาจารึกบอกถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่ามีอาณาเขตกว้างมาก ทิศเหนือจรดเมืองแพร่ น่านและหลวงพระบาง ทิศใต้จรดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจรดเมืองเวียงจันทร์ และทิศตะวันตกจรดเมืองหงสวดี การปกครองบ้านเมืองเป็นระบบ "พ่อปกครองลูก" ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีมีสิทธิเสรีภาพดั่งคำจารึกว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใสในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า"

สมัยนั้นชาวสุโขทัย ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก อาศัยน้ำที่มีอยู่บริบูรณ์ทำนา ทำสวน ทำไร่ มีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งเรียกว่า "ทำนบพระร่วง" ซึ่งนักโบราณคดีได้ศึกษาพบถึง ๗ แห่ง สุโขทัยเป็นศูนย์กลางค้าและการผลิตเครื่องถ้วยชามที่เรียกว่า "สังคโลก" ส่งขายยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย และบอร์เนียว นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์การค้าสินค้าจากจีน เช่น ถ้วยชามและผ้าไหม เพื่อขายในประเทศและส่งต่อต่างประเทศด้วย หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของสุโขทัย ได้แก่ สมบัติทางวัฒนธรรมที่ได้รับการบูรณะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและมรดกโลกในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๑๘๙๐ กรุงศรีอยุธยา มีอำนาจมากขึ้นและเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจแทนสุโขทัย แต่สุโขทัยก็ยังมีพระมหากษัตริย์ปกครองกันติดต่อมาอีก ๒ พระองค์ จึงสิ้นพระราชวงศ์สุโขทัยและได้รวมเข้ากับราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่เมืองพม่าครั้งที่ ๒ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้ตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นที่บ้านธานี(ท่าหนี) ริมแม่น้ำยมซึ่งก็คือจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ ได้ยุบอำเภอธานี ตั้งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสุโขทัยธานีขึ้นกับจังหวัดสวรรคโลก จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ยกอำเภอสุโขทัยธานีขึ้นเป็น จังหวัดสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา

สุโขทัยในปัจจุบัน ตัวเมืองในปัจจุบันนี้มิใช่กรุงสุโขทัยอันเป็นราชธานีเดิมแต่เป็นเมืองสุโขทัย ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีทรงย้ายผู้คนทั้งหมดจากสุโขทัย ตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำยมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยห่างจากตัวเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นราชธานี ๑๒ กิโลเมตร พระราชดำริในครั้งนั้นมีอยู่ว่า เมืองสุโขทัยเป็นเมืองใหม่ไม่มีผู้คนพอจะต่อสู้รักษาให้พ้นจากการรุกรานจากพม่าข้าศึกได้ เมืองสุโขทัยเคยถูกยุบเป็นอำเภอมีชื่อว่า "อำเภอธานี" ขึ้นอยู่กับอำเภอสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๒ ทางการจึงได้ยกฐานะเป็นจังหวัดดังปรากฏอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึก ก็คือมหาราชพระองค์แรกของไทย ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ สุโขทัยแห่งนี้พระองค์ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขกับได้ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล และเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในช่วงเวลานั้น จากร่องรอยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ชีให้เห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมของความเป็นไทยได้เริ่มต้น ณ แห่งนี้ วิทยาการความรู้ความสามารถ และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีภาษาและหนังสือของตนเองได้บ่งบอกถึงอารยธรรมอันสูงส่งของคนไทยได้เริ่มขึ้นและวิวัฒนาการเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานไทยได้สืบทอดต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

สุโขทัยจึงเป็นดินแดนแห่งความทรงจำ เป็นดินแดนแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติที่จะลืมเลือนเสียมิได้เป็นอันขาด สุโขทัยเป็นดินแดนแห่งความทรงจำถึงอดีตกาลแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยในความสำคัญที่
* เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด
* เป็นดินแดนของมหาราชองค์แรกของไทย
* กษัตริย์พระองค์แรกทรงผนวชในบวรพุทธศาสนา
* เป็นจุดกำเนิดลายสือไทย และวรรณคดีเล่มแรกของไทย "ไตรภูมิพระร่วง"
* เป็นแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมชิ้นแรก "ชามสังคโล